วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

วันเข้าพรรษา








วันเข้าพรรษา



ศาสนาเปรียบเสมือนเข็มทิศที่คอยบอกนำทิศทางที่ถูกต้องแก่มนุษย์ ชนทุกกลุ่มล้วนต้องมีสิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจด้วยกันทั้งสิ้นเพื่อให้ชีวิตมีแนวทางที่ดำเนินไปในทางที่ดีที่เหมาะสม เช่นเดียวกับ ศาสนาพุทธ ที่มีพระธรรมคำสอนให้ชาวพุทธได้ยึดและปฏิบัติเป็นระยะเวลานานกว่า ๘๐๐ ปี วันสำคัญต่างๆทางพระพุทธศาสนา คือวันที่มีเหตุการณ์ที่สำคัญอันเกิดขึ้นเนื่องด้วยพระรัตนตรัย ซึ่งเหตุการณ์ที่สำคัญดังกล่าว เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่พุทธศาสนิกชนให้น้อมรำลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย เพื่อหลอมรวมจิตใจพุทธศาสนิกชนทุกคนให้ประพฤติปฏิบัติให้เป็นไปในทางที่ถูกต้องและดีงามด้วยเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เป็นเหตุให้มีการกำหนวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา หนึ่งในวันสำคัญที่จะกล่าวถึงนั้นคือ วันเข้าพรรษา


ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงบัญญัติพระวินัยให้พระสงฆ์สาวกอยู่ประจำพรรษา  เหล่าภิกษุสงฆ์มีหน้าที่จาริกโปรดสัตว์และเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนแก่ประชาชนในที่ต่างๆ โดยไม่จำเป็นต้องมีที่อยู่ประจำ แม้ในฤดูฝน ภิกษุสงฆ์จึงต่างพากันออกเดินทางเผยแผ่พระพุทธศาสนาในที่ต่างๆแม้ในฤดูฝนในขณะที่นักบวชในศาสนาอื่น พากันหยุดเดินทางในช่วงฤดูฝน การที่พระภิกษุสงฆ์ไปในที่ต่างๆ แม้ในฤดูฝนนั้น อาจเหยียบย่ำข้าวกล้าของชาวบ้านได้รับความเสียหาย หรืออาจไปเหยียบย่ำโดนสัตว์เล็กสัตว์น้อยที่ออกหากินจนถึงแก่ความตาย เมื่อพระพุทธเจ้าทราบเรื่อง จึงได้วางระเบียบให้ภิกษุประจำอยู่ที่วัดเป็นเวลา ๓ เดือน ในช่วงฤดูฝน คือ เริ่มตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ของทุกปี ถ้าปีใดมีเดือน ๘ สองครั้ง ก็เลื่อนมาเป็นวันแรม ๑ ค่ำ เดือนแปดหลัง  และออกพรรษาในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ พระสงฆ์ที่เข้าจำนำพรรษาแล้วจะไปค้างแรมที่อื่นไม่ได้ หากเกินกำหนดนี้ถือว่าไม่ได้รับประโยชน์แห่งการจำพรรษา ถือว่าพรรษาขาด 




ชาวบ้านจึงถือโอกาสเข้าวัดถวายทาน รักษาศีลฟังธรรมและเจริญภาวนาเพิ่มพูนบุญกุศลกันมากขึ้นเมื่อถึงวันเข้าพรรษาพุทธศาสนิกชนก็จะพากันถวายเครื่องสักการบูชา ดอกไม้ ธูปเทียน และเครื่องใช้ต่างๆ เช่น สบู่ ยาสีฟัน อาหารทั้งคาวหวานและเครื่องอุปโภคที่จำเป็นแก่สมณะนำไปถวายพระภิกษุสงฆ์ใกล้บ้านตนพระภิกษุสงฆ์จะแนะนำสั่งสอนให้เกิดศรัทธาในการปฏิบัติตามหลักทานศีลและภาวนาและความไม่ประมาทในการประกอบคุณความดีอื่นๆ รวมทั้งชาวบ้านยังมีการรักษาศีลด้วยการงดอบายมุขทุกชนิดอีกด้วยนับเป็นเหตุให้มีประเพณีทำบุญเนื่องในวันเข้าพรรษาสืบเนื่องมาถึงจนปัจจุบัน




นอกจากนี้ ยังมีประเพณีสำคัญ คือ "ประเพณีหล่อเทียนเข้าพรรษา" เนื่องด้วยในระยะเข้าพรรษา พระภิกษุจะต้องมีการสวดมนต์ทำวัตรทุกเช้าเย็น และในการนี้จะต้องมีธูป-เทียนเพื่อใช้ในการจุดบูชาด้วย พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย จึงพร้อมใจกันหล่อเทียนเข้าพรรษาสำหรับให้พระภิกษุจุดเป็นการกุศลทานอย่างหนึ่ง เพราะเชื่อกันว่าเป็นการให้ทานด้วยแสงสว่าง จะมีอานิสงส์เพิ่มพูนสติปัญญา ชีวิตพบกับหนทางสว่างไสว เมื่อหล่อเทียนเสร็จก็จะมีการแห่รอบพระอุโบสถ ๓ รอบ แล้วนำไปบูชาพระตลอดระยะเวลา ๓ เดือน บางแห่งก็มีการประกวดการตกแต่ง มีการแห่แหนรอบเมืองด้วยริ้วขบวนที่สวยงาม โดยถือว่าเป็นงานประจำปีที่สืบทอดต่อกันมา
ในปัจจุบันในยุคที่กำลังพัฒนาไปทั่วทุกด้าน สิ่งหนึ่งที่พุทธศาสนิกชนไทยควรคำนึงไว้เสมอ แม้เราจะมีพระพุทธศาสนาที่ประยุกต์กับวัฒนธรรมไทย แต่อย่าทิ้งหลักการอุดมการณ์ดั้งเดิมของพุทธศาสนา พยายามศึกษาทำความเข้าใจสาระที่แท้จริงของพระพุทธศาสนาทุกๆ ด้าน ทั้งที่เป็นศาสนธรรม ศาสนบุคคล ศาสนพิธี และ ศาสนสถาน เพื่อปฏิบัติตนอย่างถูกต้อง และสอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป พร้อมที่จะยืนหยัดและรักษาหลักการของพระพุทธศาสนาเอาไว้ ไม่ว่าสังคมจะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ตาม หน้าที่ของพุทธศาสนิกชนทุกคนควรส่งเสริม ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่ต่อคู่กับสังคมไทยตลอดไปนานเท่านาน



น.ส.มาริสา วงศ์ศิริ 018                  
น.ส.สมิตานัน หวายเค 020             
น.ส.ดาริญญา ลักษณะกุลบุตร 022 
น.ส.ณัฐนิชา นุ่นลอย 025               
น.ส.ขจีพรรณ กล่อมโกมล  027      
น.ส.บีบีฮาวา เก่งกาจกุล 032          
น.ส.พิสชา กาญจนวิวิญ 033              
น.ส.ภัทริณี โพธิสระ   040               
น.ส.ชญาภา พิศาลภัทรกิจ 060 




วันพุธที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

สารคดีบุคคล




พันท้ายนรสิงห์ ทหารกล้าผู้ซื่อสัตย์



ความซื่อสัตย์เป็นคุณธรรมที่จำเป็นต่อทุกสังคม ไม่ว่าจะเป็นความซื่อสัตย์ในระดับไหนก็ตามก็ต้องมีการปลูกฝังหรือสอนเยาวชนรุ่นหลังให้ประพฤติปฏิบัติ ทั้งนี้เพราะคนในสังคมหากขาดคุณธรรมข้อนี้เมื่อใดสังคมก็จะเกิดความวุ่นวาย คนจะเอารัดเอาเปรียบกันและเห็นแก่ตัวมากขึ้น จนก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆตามมาอีกมากมาย ดังเรื่องราวที่เป็นตำนาน เล่าขานสืบต่อกันมาหลายยุคหลายสมัย ต้นแบบในการยึดมั่นกฎเกณฑ์และหลักการ พันท้ายนรสิงห์ ทหารกล้าผู้ซื่อสัตย์

ในยุคสมัยของสมเด็จพระเจ้าสรรเพชญ์ที่ 8 หรือสมเด็จพระเจ้าเสือ พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง แห่งกรุงศรีอยุธยา พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีความเก่งกล้าสามารถ ทรงโปรดปรานการรบ การคล้องช้าง การล่าสัตว์ และที่สำคัญคือการชกมวย จึงมีเรื่องเล่าขานกันว่าพระองค์ได้ทรงปลอมตัวเพื่อไปชมการแข่งขันชกมวยอยู่เสมอ และหากพบบุคคลใดที่ต้องตาต้องพระทัยของพระองค์แล้วนั้นก็จะทรงมอบรางวัลให้ หรือใครบางคนที่พระองค์ชื่นชอบมากจะมีการอนุญาตให้ผู้นั้นเข้ารับราชการเป็นทหารให้วัง


พันท้ายนรสิงห์ ท่านมีนามเดิมว่า"สิงห์" เป็นชาวบ้านนรสิงห์ จังหวัดอ่างทอง มีภรรยาชื่อศรีนวล สิงห์มีความสามารถด้านการชกมวย ครั้งหนึ่งได้มีการชกมวยคาดเชือกเหมือนดังที่ผ่านมาแต่ถว่าครั้งนี้นายสิงห์ไม่รู้เลยว่าตนเองนั้นได้ชกมวยอยู่กับเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินนั้นคือ พระเจ้าเสือ ภายหลังจากการต่อยมวยจบลง นายสิงห์เป็นที่พอพระทัยอย่างมากถึงขั้นมีหมายเชิญจากราชวังเรียกตัวเข้าวังให้เป็นมหาดเล็กและต่อมาได้เลื่อนเป็นราชองครักษ์เลื่อนตำแหน่งเป็น พันท้ายนรสิงห์

เรื่องราวของพันท้ายนรสิงห์ปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา กล่าวถึงเหตุการณ์ในพ.ศ.2246-2252 พระเจ้าเสือเสด็จประพาสปากน้ำสาครบุรี (ปัจจุบันคือจังหวัดสมุทรสาคร) ทางชลมารคด้วยเรือพระที่นั่งเอกชัยมีพันท้ายนรสิงห์เป็นนายท้ายเรือ เมื่อเรือพระที่นั่งถึงคลองโคกขามซึ่งเป็นคลองที่มีความคดเคี้ยวมากทำให้เกิดอุบัติเหตุคือหัวเรือพระที่นั่งชนกับกิ่งไม้ใหญ่แล้วหัวเรือหักทำให้พันท้ายนรสิงห์ต้องโทษถึงชีวิต พันท้ายนรสิงห์ยอมถูกประหารชีวิตเพื่อรักษากฎมนเทียรบาลไว้ พระเจ้าเสือจึงสั่งให้ประหารชีวิตแล้วสั่งให้สร้างศาลเพียงตาไว้ เหตุนี้จึงต้องสูญเสียคนดีของแผ่นดิน


ปัจจุบันศาลพันท้ายนรสิงห์ตั้งอยู่ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาครซึ่งเป็นศาลที่ได้รับการเคารพบูชาจากบุคคลทั่วไปและเป็นที่เคารพบูชาของชาวสมุทรสาครเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะชาวบ้านในบริเวณนั้น ต่างเชื่อมั่นในดวงวิญญาณขององค์พันท้ายนรสิงห์ว่ามีอยู่จริงและยังคงคอยปกปักรักษาคุ้มครองลูกหลานที่ทำความดี และเรื่องราวของพันท้ายนรสิงห์ถึงแม้จะล่วงเลยมานานแค่ไหน แต่คุณงามความดีของท่านยังคงเป็นแบบอย่างให้กลับคนรุ่นหลังในเรื่องความเสียสละและความจงรักภักดีตลอดไปนานเท่านาน



น.ส.มาริสา วงศ์ศิริ 018                  
น.ส.สมิตานัน หวายเค 020             
น.ส.ดาริญญา ลักษณะกุลบุตร 022 
น.ส.ณัฐนิชา นุ่นลอย 025               
น.ส.ขจีพรรณ กล่อมโกมล  027      
น.ส.บีบีฮาวา เก่งกาจกุล 032          
น.ส.พิสชา กาญจนวิวิญ 033              
น.ส.ภัทริณี โพธิสระ   040               
น.ส.ชญาภา พิศาลภัทรกิจ 060 
 

สารคดี Template by Ipietoon Cute Blog Design